ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพิจิตร
พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระนามเดิม หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ของพลเอก พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร มีฐานันดรเมื่อแรกพระราชสมภพคือ “หม่อมราชวงศ์” เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม 2475 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาพระราชทานนามว่า “สิริกิติ์” มีความหมายว่า “ผู้เป็นศรีแห่งกิติยากร”
พระองค์ทรงเป็น “สมเด็จพระราชชนนี” ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และทรงมีพระราชธิดาอีก 3 พระองค์ ปัจจุบันทรงมีพระชนมพรรษา 86 พรรษา ทรงจบการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ พร้อมพระอัจฉริยภาพด้านภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และทรงเปียโน จากนั้นทรงติดตามพระราชบิดา ซึ่งดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ ประเทศอังกฤษ ประเทศเดนมาร์ก ประเทศฝรั่งเศส โดยยังทรงเรียนเปียโนและทรงศึกษาต่อในวิทยาลัยการดนตรีของกรุงปารีส
ในวันที่ 28 เมษายน 2493 ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ที่วังสระปทุม และทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์” จากนั้นในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงได้รับการสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศขึ้นเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี” ที่มีพระชนมพรรษาน้อยที่สุดในโลก
ต่อมาในวันที่ 20 กันยายน 2499 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ทรงผนวชเป็นเวลา 15 วัน และในปีเดียวกัน วันที่ 5 ธันวาคม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธย เป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” นับเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระองค์ที่ 2 ของประเทศไทย ต่อจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5
ในปี 2503 พระองค์ได้เสด็จฯ ตามพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เยือนสหรัฐอเมริกาและภาคพื้นยุโรป 14 ประเทศ เพื่อผูกสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศที่ทำให้ทั่วโลกรู้จักเมืองไทยในปีนั้นเอง ทรงได้รับคัดเลือกให้เป็นสตรีที่แต่งกายงดงามที่สุดในโลก ต่อมาในปี 2505 พระเกียรติคุณก้องกังวานไกลถึงต่างแดนว่า “ราชินีผู้ทรงสิริโฉม” โดยผู้เชี่ยวชาญออกแบบเครื่องแต่งกายสตรีของโลกจำนวน 2,000 คน ได้ลงคะแนนเลือกพระองค์เป็นสตรีที่แต่งกายงามที่สุดในโลกผู้หนึ่ง ในจำนวนสุภาพสตรีทั้งหมด 10 คน ซึ่งนับเป็นปีที่ 2 ที่ทรงได้รับคัดเลือก
ตลอด 70 ปีแห่งการเป็น “นางแก้วคู่พระบารมี” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพสกนิกรไทย เพื่อความรุ่งโรจน์ทรงศิลปวัฒนธรรมของชาติ และเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของชาติบ้านเมือง ทรงก่อกำเนิดโครงการในพระราชดำริมากมายในทุกๆ ด้าน ทั้งศิลปาชีพ การศึกษา สุขอนามัย สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ปัจจุบัน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระองค์ มีจำนวนทั้งสิ้น 948 โครงการ แบ่งเป็น 1.โครงการพัฒนาด้านส่งเสริมอาชีพ 260 โครงการ อาทิ โครงการส่งเสริมศิลปาชีพ, โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ 2.โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม 61 โครงการ อาทิ โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าพื้นที่รอยต่อ 5 จังหวัด, โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, โครงการป่าสักนวมินทราชินี 3.โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ 499 โครงการ อาทิ โครงการป่ารักน้ำตามพระราชดำริ, โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหินชะแนนใหญ่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 4.โครงการพัฒนาเกษตร 38 โครงการ อาทิ สถานีพัฒนาเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ดอยคำ, สถานีเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านกอก-บ้านจูน 5.โครงการพัฒนาด้านคมนาคม/การสื่อสาร 14 โครงการ อาทิ โครงการลาดยางถนนคันกั้นน้ำบ้านศรีพงัน-ประตูระบายน้ำปลายคลองมูโนะ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6.โครงการสวัสดิการพัฒนาสังคม/การศึกษา 5 โครงการ อาทิ โครงการหมู่บ้านยามชายแดน ตามพระราชดำริ, โครงการธนาคารอาหารชุมชน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 7.โครงการพัฒนาด้านบูรณาการ/อื่นๆ 71 โครงการ อาทิ โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่, โครงการฟื้นฟูอาหารช้างป่า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
พระราชกรณียกิจต่างๆ ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเป็นที่ประจักษ์แก่คนไทยและชาวโลก องค์กรระหว่างประเทศต่างยกย่องและทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลและปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เป็นจำนวนมาก อาทิ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญซีเรส เทิดพระเกียรติในฐานะที่ทรงยกฐานะของสตรีให้มีระดับสูงขึ้นและทรงเป็นผู้ “ให้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง” เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2522, มหาวิทยาลัยทัฟส์ จากรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามนุษยธรรมในฐานะที่ทรงยกระดับฐานะการครองชีพของประชาชน และช่วยบรรเทาทุกข์ของเด็ก เมื่อปี 2523, สหพันธ์พิทักษ์เด็ก แห่งนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลบุคคลดีเด่นด้านพิทักษ์เด็ก เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2524, สถาบันเอเชียโซไซตี้ แห่งนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลด้านมนุษยธรรม เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2528 เป็นต้น
(หมายเหตุ ข้อมูลจาก หนังสือเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ราชินีศรีแผ่นดิน โดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ สำนักงาน กปร.)